หากคุณเริ่มขับรถออกจากกรุงเทพมหานครขึ้นไปทางภาคเหนือ และจับเวลา 11 ชั่วโมง 5 นาที ปลายทางที่คุณจะไปถึงโดยยืนยันจาก Google Maps คือจังหวัดเชียงราย เหนือสุดของประเทศไทย
ไม่ต้องห่วงเลยว่าร่างกายของคุณจะอ่อนล้าขนาดไหนหากขับรถทางไกลและใช้เวลาขนาดนั้น ขนาดที่ว่าแค่คนที่นั่งอยู่บนเบาะเฉยๆ ก็ยังปวดหลังเมื่อยตัวไปหมด
อย่างไรก็ตามในการแข่งขันเทนนิสรายการ วิมเบิลดัน เมื่อปี 2010 … จอห์น อิสเนอร์ กับ นิโคลัส มาอู ต้องตีสวนกันไป เสิร์ฟใส่กันมา อยู่อย่างนั้นไม่รู้จบ และกว่าที่จะหาผู้ชนะได้ก็ใช้เวลามากกว่า 11 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ทำไมพวกเขาจึงตีกันนานขนาดนั้น และอะไรเกิดขึ้นเมื่อการแข่งขันจบลง ติดตามได้ที่นี่
อิสเนอร์ vs มาอู มวยถูกคู่คนดูถูกใจ
สำหรับการแข่งขันเทนนิสชาย ว่ากันว่าเป็นหรือตายจุดเริ่มต้นที่ใช้วัดกันเป็นอันดับแรกคือ เกมเสิร์ฟ
การจะเสิร์ฟได้รุนแรงและมีโอกาสทำแต้มสูงนั้น อย่างแรกที่ต้องมีเลยคือความสูงระดับ 190 เซนติเมตรขึ้นไป หรืออย่างน้อยต้องมีสัก 185 เซนติเมตร ซึ่งเกมเสิร์ฟของเหล่ายักษ์ใหญ่พวกนี้นั้นได้เปรียบคู่แข่งอย่างแท้จริง
ในการจัดอันดับโลกนักเทนนิสที่เสิร์ฟดีที่สุดตลอดกาล 10 อันดับแรกพบว่าส่วนใหญ่สูงระดับ 190 แตะๆ 2 เมตรกันทั้งสิ้น ซึ่งในส่วนของผู้เล่นที่สูงไม่ถึง 190 เซนติเมตรนั้นมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น และเป็นกลุ่มพรวรรค์ระดับเทพทั้ง พีท แซมพราส, โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ แอนดี้ ร็อดดิค
การเจอกันของ จอห์น อิสเนอร์ และ นิโคล่าส์ มาอู เป็นหนึ่งในแมตช์ที่วัดกันด้วยเกมเสิร์ฟอย่างแท้จริง อิสเนอร์ จากอเมริกัน สูง 2 เมตร 8 เซนติเมตร เว็บไซต์ Ranker จัดอันดับให้เป็นจอมเสิร์ฟตลอดกาลอันดับ 4 ของโลก ขณะที่ มาอู นั้นสูง 191 เซนติเมตร มีดีที่เกมเสิร์ฟในระดับหนึ่ง แม้ว่าเขาจะเสิร์ฟดีสู้ อิสเนอร์ ไม่ได้แต่สิ่งที่เขามีคือการเล่นลูก “เซอร์วิส รีเทิร์น” หรือการรับลูกเสิร์ฟที่ดีกว่ามาก ตัวของ อิสเนอร์ นั้นมีจุดบอดในด้านนี้โดยตรง
“ผมซ้อมการรักษาสมดุลตอนเสิร์ฟหนักมาก แม้ตอนนี้มันจะถือว่าดีอยู่แล้วแต่ผมว่ามันยังดีได้อีก โค้ชของผมจะมาร์กจุดตกของลูกเอาไว้เลย และถ้าผมยังเสิร์ฟไม่ไปตกที่จุดนั้นผมก็ไม่สามารถไปไหนได้ แหงล่ะเพราะการฝึกซ้อมมันทำให้คุณได้สิ่งที่เรียกว่าความเพอร์เฟ็กต์” อิสเนอร์ เล่าถึงการฝึกหนักที่ผสมกับความสูงที่ได้เปรียบจนทำให้เขาเป็น “บิ๊ก เสิร์ฟ เพลเยอร์” ลูกเสิร์ฟของเขามีความเร็วถึง 253 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลยทีเดียว
ดังนั้นมันจึงเป็นการเจอกันของมวยถูกคู่ ทีเด็ดในเกมเด่นคนละด้านตัวของ อิสเนอร์ หวังเสิร์ฟเอซทำแต้ม ขณะที่ มาอู ใช้การเสิร์ฟที่อยู่ในขั้น “ดีระดับหนึ่ง” โจมตีใส่คู่แข่งที่มีปัญหาเรื่องนี้ … และย้อนไป 9 ปีก่อนทั้งคู่ถือว่ายังหนุ่มยังแน่น อิสเนอร์ จะอายุ 25 ปี ขณะที่ มาอู นั้นอายุ 28 ย่าง 29 ปี
จุดแข็งและจุดอ่อนของทั้งคู่เมื่อนำมาหักลบกลบหนี้ดูแล้วจะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มมากที่เกมจะยืดเยื้อ ทว่าการแข่งขันที่กินเวลาถึง 11 ชั่วโมงมันเป็นไปได้อย่างไร? โลกนี้มีเกมเทนนิสที่สูสีกินกันไม่ลงมากมายหลายคู่ ทว่าทำไมไม่เคยมีใครทำสถิติใช้เวลาหาผู้ชนะได้อย่างคู่นี้กันล่ะ?
ระบบการแข่งที่เป็นใจ
วิมเบิลดัน เป็นรายการเทนนิสเก่าแก่และมีมนต์ขลัง ดังนั้นกฎกติกาหลายข้อในทัวร์นาเมนต์นี้จึงคงไว้ซึ่งความคลาสสิก เริ่มตั้งแต่การที่ผู้เล่นจะต้องสวมชุดขาวลงแข่งขันเพื่อรักษาขนบเดิมเอาไว้ ขณะที่กฎในการแข่งขันยังมีข้อแตกต่างกับรายการอื่นๆ ซึ่งรวมถึงแกรนด์สแลมอย่าง ยูเอส โอเพ่น เมื่อเกมเซ็ตตัดสินมาถึง
เกมเซ็ตสุดท้ายของเทนนิสรายการทั่วๆ ไปนั้นจะเป็นการแข่งขันแบบมี ไทเบรก เหมือนกับทุกเซ็ตก่อนหน้า กล่าวคือหากสกอร์เสมอกันอยู่ที่ 6-6 ใครชนะเกมที่ 7 ซึ่งเป็นเกมไทเบรกจะถือว่าเป็นผู้ชนะทันที โดยผู้ชนะไทเบรกคือคนที่ทำได้ 7 คะแนน หรือชนะห่าง 2 คะแนนหากก่อนหน้าเสมอด้วยสกอร์ 6-6 ขึ้นไป ขณะที่ วิมเบิลดัน นั้นคงความคลาสสิกเอาไว้ชัดเจน เพราะเมื่อเซ็ตตัดสินมาถึง จะไม่มีการใช้ ไทเบรก เพื่อหาผู้ชนะ ดังนั้นเท่ากับว่าหากแข่งขันเป็นแบบผลัดกันชนะเกม-แพ้เกม นักเทนนิสทั้งสองคนจะต้องแข่งกันต่อไปเรื่อยจนกว่าจะหาผู้ชนะที่เอาชนะห่าง 2 คะแนนได้ ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น
สถิติเกมยาวของ วิมเบิลดัน ก่อนที่แมตช์ระหว่าง อิสเนอร์ กับ มาอู จะเริ่มขึ้นคือ 5 ชั่วโมง 28 นาที โดยเป็นการหวดกันระหว่าง เกร็ก โฮล์มส์ กับ ท็อดด์ วิทส์เกน สองนักเทนนิสชาวอเมริกัน ที่ทำไว้ในปี 1989 (เกมนั้น โฮล์มส์ เป็นฝ่ายชนะไป 5–7, 6–4, 6–4 (7–5), 4–6, 14–12) … และต่อไปคือเรื่องราวของการแข่งขันและสิ่งที่เกิดขึ้นในการพบกันระหว่าง อิสเนอร์ และ มาอู
ตำนานเกมยาวอันดับ 1 ของโลก
แมตช์นี้เริ่มต้นในวันที่ 2 ของการแข่งขันของประเภทชายเดี่ยว และเป็นเกมรอบแรกของการแข่งขันเท่านั้น
ในเซ็ตแรกนั้นนอกจาก อิสเนอร์ จะใช้จุดแข็งในการเสิร์ฟของตัวเองได้แล้ว เขายังกลบจุดอ่อนด้วยการเบรกเกมเสิร์ฟของ มาอู และเอาชนะไป 6-4 อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มเซ็ตที่ 2 มาอู กลับกลบจุดอ่อนของตัวเองได้เหมือนกัน เพราะเกมเสิร์ฟที่ อิสเนอร์ แสนมั่นใจทำอะไรเขาไม่ได้ ก่อนผู้เล่นชาวฝรั่งเศสจะชนะไป 6-3 เสมอกัน 1-1 เซ็ต
เครื่องเริ่มร้อน ต่างฝ่ายเริ่มเอาชนะจุดแข็งของอีกฝ่ายได้ ทำให้เกมเข้มข้นไปอีก เซ็ตที่ 3 และ 4 นั้นไม่มีการเบรกเกมเสิร์ฟของกันและกันได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว จนต้องตัดสินด้วยไทเบรกทั้งสองเซต มาอู ชนะในเซ็ต 3 ด้วยสกอร์ 7-6 (9-7) แต่ อิสเนอร์ไม่ยอมให้เกมจบเมื่อเข้าเซ็ต 4 เขาจัดการ มาอู สำเร็จด้วยสกอร์ที่ขาดลอย 7-6 (7-3) … เสมอกัน 2-2 เซ็ต
4 เซ็ตใช้เวลาไปทั้งหมด 3 ชั่วโมงแต่ก็ยังหาผู้ชนะไม่ได้ (เริ่มแข่ง 18.13 น. เซ็ตที่ 4 จบในเวลา 21.07 น.) ขณะที่นักกีฬาทั้งสองคนเตรียมตัวสำหรับเซ็ตตัดสิน ฝ่ายจัดก็ออกมาห้ามทัพว่า “พอก่อน” เพราะตอนนี้แสงไฟไม่เพียงพอ (ด้วยความที่เกมคู่นี้จัดแข่งขันในคอร์ท 18 ซึ่งเป็นคอร์ทสำหรับคู่รองๆ จึงไม่ได้ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างมากเท่าที่ควรด้วย) ค่อยมาแข่งใหม่ในวันพรุ่งนี้ (23 มิถุนายน) ในเวลา 14.55 น.
คราวนี้ฝ่ายจัดเผื่อเวลาให้เต็มที่จากการเห็นทรงและความยืดเยื้อในการแข่งขันวันแรก พวกเขาจัดให้ตั้งแต่บ่าย 2 กว่าๆ กันเลยทีเดียว แต่ถึงแม้จะเผื่อเวลาให้ขนาดนี้ทั้งคู่ก็ยังกินกันไม่ลงเสียที เซ็ตที่ 5 ซัดกันตั้งแต่บ่าย 2 ถึง 3 ทุ่มของการแข่งขันวันที่ 2 แต่ด้วยความที่มันเป็นเซ็ตตัดสินอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ไม่มีไทเบรก เกมมันจึงยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้น
“คือผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าการลงเล่น 1 เกมในเวลา 2 วันมันยากขนาดนี้ แต่ อิสเนอร์ เสิร์ฟโหดจริงๆ ผมพยายามจะต่อต้านมันแล้วทั้งรับเร็วและรับช้า แต่ไม่มีอะไรเวิร์กเลยสักอย่าง แต่โชคยังพอมีที่เขาเองก็รับลูกเสิร์ฟผมไม่ได้เหมือนกัน เล่นไปเล่นมามันก็เลยเป็นช่วงเวลาวัดใจไปเลย คือถ้าผมเสิร์ฟไม่ดีเกมนี้ผมแพ้แน่ เกมจะจบตรงนั้น แต่ผมไม่พลาดเกม 5-5 และแต้มอยู่ 58-58 ถึงตอนนั้นสมาธิผมยังยอดเยี่ยม” นี่คือสิ่งที่ มาอู เล่าในวันนั้น
ขณะที่ตัวของ อิสเนอร์ นั้นพูดสั้นๆ หลังวันที่ 2 ว่า “ผมจำได้ตอนที่สกอร์อยู่ที่ 47-47 สกอร์บอร์ดของการแข่งขันถึงกับค้าง คุณคิดดูแล้วกันแม้แต่เครื่องจักรยังน็อคเลย”
ตอนนี้ความมั่นเริ่มเกิดขึ้นแล้ว คนดูที่เคยมองข้ามเกมคู่นี้เพราะเห็นว่าเป็นเกมรอบแรก เริ่มได้ยินข่าวว่าเป็นคู่ที่หาผู้ชนะไม่ได้ มีคนดูมากขึ้นและหลายคนอยากจะรู้จริงๆ ศึกมนุษย์ปอดเหล็กกกล้ามเนื้อปีศาจนี้จะจบลงเช่นไรเลย … ฝ่ายจัดเบรกทันทีเมื่อถึง 3 ทุ่มด้วยเหตุผลของแสงที่น้อยเกินกว่าจะแข่งขันได้ พวกเขาจะต้องมาเจอกันใหม่ในวันที่ 3 ที่คอร์ทเดิม ขณะที่คนดูในวันนั้นเกิดติดใจและตะโกนว่า
“เอาอีก เอาอีก เอาอีก!” แน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้ ไว้พรุ่งนี้มาว่ากันใหม่อีกครั้ง ฝ่ายจัดลงมติอย่างนั้น
เมื่อเริ่มการแข่งขันวันที่ 3 ตอนนี้ไม่ใช่แค่แฟนเทนนิสแล้วที่อยากจะดูว่ามันจะจบลงอย่างไร แม้แต่นักเทนนิสด้วยกันเองยังอดใจไม่ไหวที่จะลุ้นผลคู่นี้ไปด้วย … ในขณะที่คู่อื่นๆ เริ่มแข่งขันรอบที่ 2 ไปแล้ว คู่นี้ยังหาผู้ชนะไม่ได้
“นี่คือการโฆษณาความยิ่งใหญ่ของเทนนิสได้ดีที่สุดเลย มันคือสิ่งที่ผมภูมิใจมากที่ได้ดูเกมนี้ด้วยตาของตัวเอง มีไม่บ่อยนักหรอกที่เราดูเกมๆ หนึ่งจบและเกิดความรู้สึกเคารพในตัวผู้เข้าแข่งขันทั้งสองคน” จอห์น แม็คเอนโร ตำนานนักเทนนิสกล่าวถึงการแข่งขันในวันนั้น
ขณะที่ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ก็กล่าวติดตลกว่า “ผมไม่รู้ว่าควรจะร้องไห้หรือหัวเราะกับเกมนี้ดี มันน่าประทับใจมากจริงๆ”
เกมที่คอร์ท 18 มีผู้ชมหนาตาทั้งที่ปกติแทบไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจมากนัก และสุดท้ายเกมแห่งความยือดเยื้อก็จบลงเมื่อ อิสเนอร์ ยิงแบ็คแฮนด์ใส่ มาอู และเอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 70-68 ในเซ็ตที่ 5 รวมระยะเวลาทั้งหมด 3 วัน ใช้เวลาไป 11 ชั่วโมง 5 นาที แน่นอนว่าไม่มีเกมไหนในโลกที่จะใช้เวลามากกว่านี้อีกแล้ว
อิสเนอร์ ล้มตัวลงนอนแบบหมดสภาพหลังรู้ว่าตัวเองเป็นฝ่ายชนะ ก่อนที่จะรวบรวมพลังครั้งสุดท้ายลุกขึ้นมาเพื่อกอดกับคู่สร้างสถิติของเขา ทั้งคู่ถ่ายรูปกับสกอร์บอร์ด 70-68 ซึ่งกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ของวงการเทนนิสถึงทุกวันนี้
สิ่งที่ตามมา?
นอกจากการกินเวลาที่ยาวนานแล้ว สิ่งที่หลายคนสงสัยคือเกิดอะไรขึ้นจากนั้นบ้าง? การตีเทนนิส 11 ชั่วโมงส่งผลอะไรต่อร่างกายของทั้งคู่หรือไม่?
หลังการแข่งขันวันที่ 2 จบลง อิสเนอร์ ต้องดื่ม “รีคอฟเวอรี่ เชค” หรือเครื่องดื่มสูตรเพื่อการฟื้นฟูร่างกายในเวลาอันรวดเร็ว และลงไปแช่ในน้ำแข็งเพื่อความพร้อมสำหรับวันที่ 3 โดยมี แอนดี้ ร็อดดิก นักเทนนิสเพื่อนร่วมชาติหิ้วไก่ทอดและพิซซ่ามาเสิร์ฟกันถึงที่เลยทีเดียว
“พิซซ่า 3 ถาด ไก่ทอดอีกเพียบ มันบดปิดท้าย” อิสเนอร์เล่าถึงสิ่งที่เขาต้องกินหลังจากเกมนั้นเพื่อทดแทนพลังงานที่เสียไป เขายังบอกอีกว่าหากวัดสเกลความหิวในวันที่ 2 นั้นเขาสามารถกินแฮมเบอร์เกอร์บิ๊กแม็คคนเดียว 12 ชิ้นหมดได้สบายๆ
ขณะที่ มาอู นั้นไม่ต่างกัน เขาต้องลงแช่น้ำแข็งเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ อาบน้ำและรีบเข้านอนพักผ่อนทันที เพื่อจะตื่นเช้ามาเตรียมตัวสำหรับวันที่ 3
ก่อนเกมตัดสินเซ็ต 5 ในวันที่ 3 จะเริ่มขึ้น บีบีซี รายงานว่า มาอู ตื่นก่อนใครและเริ่มมาลงซ้อมตีเบาๆ กับ แอนดี้ เมอร์เร่ย์ ขณะที่ อิสเนอร์ ใช้เวลาอีกไม่นานตามลงมาและเริ่มใช้เครื่องวิ่งออกกำลังกาย นั่นคือสิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้เพราะร่างกายใกล้มาถึงขีดจำกัดสุดๆ แล้ว
วิทยาศาสตร์บอกอะไร?
Sports Scientists เว็บไซต์กีฬาเชิงวิทยาศาสตร์ถึงกับเอาเรื่องนี้มาวิเคราะห์กันอย่างเป็นจริงเป็นจัง พวกเขาต้องการหาคำตอบว่าการตีเทนนิส 3 วันติดต่อกันภายในเวลา 11 ชั่วโมงส่งผลอะไรกับร่างกายบ้าง ซึ่งผลที่ออกมาคือมันเกินกว่ากำลังคนจะรับได้ ทว่าหากแก้ปัญหาอย่างถูกจุดแล้วแมตช์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
นักเทนนิส จะเผาผลาญพลังงานได้ 11-15 แคลอรี่ ต่อ 1 นาที ซึ่งหากคิดค่าการเผาผลาญจากเวลา 11 ชั่วโมง 5 นาที จะเท่ากับว่าทั้งคู่จะต้องใช้พลังงานสำหรับการเผาหลาญทื้งหมด 8,500 แคลอรี่เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามหากแบ่งระยะเวลาการเผาผลาญเป็นเวล 3 วันเท่ากับระยะเวลาการแข่งขันจะถือว่าเป็นตัวเลขเฉลี่ยที่ไม่น่าตกใจนัก พวกเขาจะใช้พลังงานตกวันละ 2,800-3,000 แคลอรี่ แม้จะเป็นการสูญเสียพลังงานที่มากกว่าการวิ่ง 1 มาราธอน แต่สามารถทดแทนได้ด้วยการกินนั่นเอง
ทั้ง อิสเนอร์ และ มาอู เลือกจะทดแทนพลังงานด้วยเครื่องดื่มเพิ่มไกลโคเจน (แหล่งพลังงานสะสมของร่างกาย) ในระหว่างการแข่งขัน และพวกเขาทั้งคู่ต่างดื่มน้ำในทุกๆ 5 นาที จึงทำให้มีปริมาณน้ำในร่างกายเพียงพอ ไม่มีความเสี่ยงต่อการขาดน้ำแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดเลยคือเรื่องของกล้ามเนื้อ มีการเก็บสถิติว่า 11 ชั่วโมง 5 นาที ทั้ง 2 คนนั้นใช้พลังในการวิ่งเปลี่ยนทิศทางรวมกันถึง 4,500 ครั้ง กระโดดอีก 500 ครั้ง และ การตีลูกมากกว่า 2,000 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อกล้ามเนื้อโดยตรงและไม่สามารถฟื้นฟูได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง นั่นคือเหตุผลที่ทำไมในเกมวันที่ 3 ทั้งคู่ดูช้าลงไปเยอะในหลายๆ จังหวะ
และสุดท้ายภาพสะท้อนที่แสดงออกมาหลังเกมอันหนักหน่วงคือ อิสเนอร์ ที่เป็นฝ่ายเข้ารอบต้องเล่นเกมรอบที่ 2 ในวันต่อไปทันที และผลที่ออกมาคือเขาแพ้ให้กับ เธียโม เดอ บักเกอร์ จากฮอลแลนด์แบบสู้ไม่ได้ 3 เซ็ตรวด 6-0, 6-3 และ 6-2 ด้วยเวลาเพียง 74 นาทีเท่านั้น
แม้ เธียโม เดอ บักเกอร์ จะสมควรได้รับคำชื่นชม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนรู้ดีคือ อิสเนอร์ นั้นหมดสภาพไปแล้ว การแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตาย 3 วัน ส่งผลกับร่างกายของเขาอย่างแท้จริง
เกมยืดเยื้อระหว่าง อิสเนอร์ กับ มาอู ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยนอกจากความสนุกของคนดู เพราะตัวของผู้เล่นเองก็ต้องเสียกำลังไปมากและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูงขึ้น และต่อให้เป็นผู้ชนะที่สุดเเล้วพวกเขาก็เสียเปรียบคู่แข่งในรอบต่อไปอยู่ดีจากความเสียหายของร่ายกายในรอบที่ผ่านมา
ดังนั้นในปี 2019 รายการวิมเบิลดัน ก็ตัดสินใจเปลี่ยนกฎใหม่หลังเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันขึ้นในเกมรอบรองชนะเลิศปี 2018 ระหว่าง เควิน แอนเดอร์สัน และ จอห์น อิสเนอร์ (อีกเเล้ว) ซึ่งแข่งกันถึง 5 เซ็ต กินเวลาไป 6 ชั่วโมง 36 นาที โดยในวันนั้น ถึงคราวที่อิสเนอร์เป็นฝ่ายปราชัยบ้างในเซ็ตสุดท้าย 24-26
โดยกฎที่เปลี่ยนไปในศึกวิมเบิลดันและใช้อยู่ในปัจจุบันคือ หากเกมยืดเยื้อมาถึงเซ็ตสุดท้าย ในตอนแรกจะแข่งกันแบบปกติ แต่หากเสมอถึง 12-12 เกมเมื่อไหร่ จะต้องตัดสินด้วยระบบไทเบรกทันที
การตัดสินใจให้ใช้ ไทเบรก เกิดขึ้นจากการหารือกันจากทั้งเจ้าหน้าที่และนักกีฬาจนละเอียด ซึ่งเหตุผลใหญ่ที่สุดที่ทำให้การนำไทเบรกกลับมาใช้คือพวกเขาพบว่า ยิ่งเกมยืดเยื้อมากเท่าไหร่ คุณภาพของเกมก็ตกลงเท่านั้น เนื่องจากต่างอยากประคองตัวให้ไม่แพ้มากกว่าที่จะเค้นฟอร์มเพื่อเอาชนะนั่นเอง
ซึ่งถึงตอนนี้ เทนนิสแกรนด์สแลมแทบทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลียน โอเพ่น, วิมเบิลดัน และ ยูเอส โอเพ่น ได้นำระบบไทเบรกมาใช้หมดแล้ว จะขาดก็เพียงรายการเดียว … เฟรนช์ โอเพ่น แกรนด์สแลมบนคอร์ทดินที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งยังคงความคลาสสิกด้วยระบบแบบดั้งเดิมต่อไป
ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัยว่า สถิติหวดมาราธอนที่สุดของเฟรนช์ โอเพ่น นานขนาดไหน? คำตอบคือ 6 ชั่วโมง 33 นาที ในเกมรอบแรกของสองนักหวดเจ้าถิ่นเมื่อปี 2004 ซึ่ง ฟาบริซ ซองโตโร่ ต้องใช้เวลาถึง 2 วันกว่าจะชนะ อาร์โนลด์ เคลม็องต์ 6–4, 6–3, 6–7 (5–7), 3–6, 16–14
หากใครต้องการชมศึกเทนนิสมาราธอนเช่นนี้จากนี้ไป เฟรนช์ โอเพ่น คือคำตอบ แต่หากเกิดแมตช์ลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งก็เป็นได้